นายศฤงคาร อุปนันต์
หัวหน้าสำนักปลัด รักษาราชการแทน
ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลดอยหล่อ
โทร. 089-5569496
ศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยว อบต.ดอยหล่อ
วัดฟ้าหลั่ง
- 19 เมษายน 2567
- อ่าน 39 ครั้ง
ประวัติวัดฟ้าหลั่ง
"วัดฟ้าหลั่ง"
ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านสันหิน (เดิมเรียกว่าบ้านม่วงงาม) ต.ดอยหล่อ อ.ดอยหล่อ
จ.เชียงใหม่ ติดถนนสายเชียงใหม่-ฮอด กิโลเมตรที่ ๓๗.๕ เชื่อกันว่า
วัดฟ้าหลั่งเป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นเมื่อประมาณ ๔๐๐ กว่าปีมาแล้ว
ก่อนที่จะกลายเป็นวัดร้างเป็นระยะเวลายาวนาน
วัดฟ้าหลั่งเดิมมีชื่อว่า ?วัดป่าฟ้าหลั่ง?
ดังปรากฏหลักฐานกล่าวถึงในตำนานพระธาตุศรีจอมทอง อำเภอจอมทอง
(ตำนานประธาตุศรีจอมทองซึ่งอยู่ในหนังสือประชุมตำนานล้านนาไทยเล่ม ๒ นี้ คุณสงวน
โชติสุขรัตน์ ผู้รวบรวมได้ระบุถึงที่มาว่า ท่านพระมหาหมื่น วุฑฒิญาโณ
ได้แปลจากอักษรไทยยวนไว้ เมื่อประมาณพ.ศ.๒๔๖๘ และมอบให้ผู้รวบรวมเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๖
อ้างจาก สงวน โชติสุขรัตน์ ประชุมตำนานล้านนาไทย เล่ม ๒ พระนคร: โอเดียนสโตร์, ๒๕๑๕, หน้า ๒๑๙)
และในโคลงมังทรารบเชียงใหม่ (สิงฆะ วรรณสัย ถอดความเป็นภาษาไทยปัจจุบัน
โคลงเรื่องมังทรารบเชียงใหม่ บุตรธิดาพิมพ์เป็นบรรณาการ ในงานฉลอง ๗ รอบนางกิมฮ้อ
นิมมานเหมินทร์ วันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๒)
จากหลักฐานดังกล่าวทำให้ทราบว่า
วัดป่าฟ้าหลั่งเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งในสมัยพระเมืองแก้ว พระมหาเถรที่สำคัญของวัดฟ้าหลั่งมีสององค์
คือ มหาเถรฟ้าหลั่งพุทธญาโณ และมหาเถรอานันทะ มหาเถรป่าฟ้าหลั่ง
เป็นผู้ที่มีสติปัญญา
ทำให้มีบทบาทสำคัญในการก่อสร้างพระวิหารและปราสาทที่พระธาตุศรีจอมทอง
นอกจากหลักฐานที่เป็นเอกสารแล้ว
ยังมีตำนานที่เล่าสืบทอดกันมาว่า ?มีมหาเถรสององค์อยู่วัดป่าฟ้าหลั่ง
มหาเถรองค์ที่ ๑ ชื่อว่า มหาเถรพุทธญาโณ องค์ที่ ๒ ชื่อว่า มหาอานันทเถระ
อยู่วัดป่าฟ้าหลั่ง มหาเถรพุทธญาโณนั้น เวลาท่านจะไปไหน ?เปิ้นเห็นฟ้ามันคล้าย ๆ
ฝนจะตกครึ้มดี?
ส่วนลักษณะ ?วัดป่า? (หลวงปู่ครูบาอิน อินโท
ได้เมตตาเล่าให้ฟังเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๓๔) นั้น
หลวงปู่ครูบาอินกรุณาขยายความว่าหมายถึงวัดที่อยู่ไกลบ้านประมาณ ๕๐๐ วา
ชั่วขาธนูหรือประมาณ ๑ กิโลเมตร
เมื่อสิ้นมหาเถรป่าฟ้าหลั่งไปแล้ว
ไม่ปรากฏชื่อของวัดป่าฟ้าหลั่งในเอกสารใด
เข้าใจว่าวัดป่าฟ้าหลั่งคงจะเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา
และด้วยภาวะสงครามระหว่างเมืองเชียงใหม่กับเมืองพม่าซึ่งปรากฏในประวัติศาสตร์อยู่หลายครั้งหลายหน
จนกลายเป็นวัดร้างและป่ารกชัฏไปในที่สุด
ปัจจุบันสันนิษฐานว่า ?วัดฟ้าหลั่ง? คือ
วัดป่าฟ้าหลั่งเดิม เพราะมีหลักฐานเป็นชายกำแพงรอบทั้งสี่ด้าน มีเนื้อที่ประมาณ ๘
ไร่ ภายในบริเวณมีฐานเจดีย์ (อยู่ในบริเวณวัดปัจจุบัน
ทางด้านทิศเหนือของอุโบสถเป็นที่ว่างระหว่างกุฏิกรรมฐานหลังที่ ๒ และ ๓
ซึ่งบริเวณนั้นจะปรากฏเป็นอิฐโบราณหักเป็นจำนวนมาก
ก่อนมาบูรณะผู้เฒ่าผู้แก่ยังเคยมาบูชาที่ฐานเจดีย์เดิมอยู่) และฐานอุโบสถขนาดกว้าง
๘ ศอก ยาว ๑๒ ศอก ตั้งอยู่
และที่ฐานอุโบสถเมื่อขุดดูจะพบลูกนิมิตหรือหินสีมาฝังไว้ครบถูกต้องตามทิศทางฐานอุโบสถที่กล่าวถึงที่
ปัจจุบันอยู่ในบริเวณที่ดินของวัดฝั่งตรงข้ามกับวัดฟ้าหลั่งปัจจุบัน
เพราะมีถนนสายเชียงใหม่-ฮอด ตัดผ่าน ทำให้บริเวณวัดแยกจากกัน
วัดร้างฟ้าหลั่งเริ่มต้นบูรณะเมื่อครั้งที่หลวงปู่ครูบาอินท่านได้รับนิมนต์มานั่งหนักเป็นประธานก่อสร้างโรงเรียนวัดฟ้าหลั่งในปี
พ.ศ.๒๕๐๔ จึงนับว่าเริ่มสร้างวัดฟ้าหลั่งตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
การบูรณะก่อสร้างวัดฟ้าหลั่งนั้น หลวงปู่ครูบาอิน อินโท
และคณะชาวบ้านได้แผ้วถางป่ารกชัฏ และก่อสร้างถาวรวัตถุอย่างที่ปรากฎอยู่ตลอด
รวมทั้งปลูกต้นไม้ขึ้นมาใหม่ทุกต้น
ยกเว้นต้นมะม่วงขนาดใหญ่ที่อยู่หลังกุฏิพระครูบาอินเท่านั้นที่เป็นต้นเดิม
การก่อสร้างทั้งหมดเกิดจากเจตนาศรัทธาอันบริสุทธิ์ของผู้บริจาคทรัพย์สมทบทุนการก่อสร้าง
โดยไม่มีการบังคับหรือป่าวประกาศ การก่อสร้างจึงเป็นไปอย่างล่าช้า
อันเป็นเจตนารมณ์ของพระครูบาอิน อินโท ที่จะไม่เรี่ยไรบังคับให้คนทำบุญ
แต่ให้บุญเกิดขึ้นเองโดยจิตเจตนาศรัทธาของบุคคลนั้นจริง ๆ
วัดฟ้าหลั่ง
ได้จัดงานพิธีสรงน้ำพระธาตุในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ เหนือ (๓ ใต้) ต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีเพื่อเป็นการทำนุบำรุงและอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีตลอดจนเป็นการสร้างความสามัคคีและความสัมพันธ์อันดีระหว่างองค์กรชุมชนกับประชาชนตำบลดอยหล่อ